smartthink

เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ เครื่องจักร ฯลฯ ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ในยุคที่แรงงานในภาคเกษตรลดลง ทำให้ต้องเริ่มมีการปรับตัวโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุง และประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น
แนวคิดของการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) คือ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) โดยเป็นการทำการเกษตรให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เน้นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จนถึงกระบวนการปลูกที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวัด ทั้งเรื่องของสภาพดิน ความชื้นในดิน แร่ธาตุในดิน ความเป็นกรดด่าง สภาพปริมาณแสงธรรมชาติ รวมถึงเรื่องศัตรูพืชต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์อีกข้อหนึ่งคือ ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง
 
ดังนั้น ความแม่นยำในการเสริมปัจจัยต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ทำให้ช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ สร้างมาตรฐานการผลิต ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าการทำการเกษตรทั่วไป
ประเทศเวียดนามตั้งเป้าพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ
ฮานอยได้จัดทำแนวทางการผลิตทางการเกษตรที่มีเทคโนโลยีสูงจำนวนมาก เพื่อมุ่งสู่การเกษตรแบบชาญฉลาด อย่างไรก็ตาม ฮานอยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งการฝึกอบรมแรงงานคุณภาพสูง
ปัจจุบัน ฮานอยมีโมเดลการผลิตทางการเกษตรไฮเทค 164 โมเดล เช่น การผลิตพืชผล 105 โมเดล การผลิตปศุสัตว์ 39 โมเดล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 15 โมเดล และโมเดลที่ผสมการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ 1 โมเดล ในปัจจุบัน มูลค่าของสินค้าเกษตรไฮเทคคิดร้อยละ 35 ของมูลค่าการผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในเมืองฮานอย
ภาคเกษตรของฮานอยได้ส่งเสริมการนำทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการผลิตทางการเกษตร ได้แก่ เทคโนโลยีโรงเรือนที่มีระบบรดน้ำอัตโนมัติ (ในด้านการเพาะปลูก) ระบบระบายความร้อนเพื่อช่วยให้อุณหภูมิและความชื้น สายป้อนอาหารอัตโนมัติ การผสมเทียม (ปศุสัตว์) การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพและเครื่องกำเนิดออกซิเจนอัตโนมัติ (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
นาย Tran Duy Quy ประธานสมาคมวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบทเวียดนามกล่าวว่า การพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ด้วยการที่ฮานอยมีประชากรหนาแน่น การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตจะช่วยเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดิน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อุตสาหกรรมการเกษตรของฮานอยยังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 ไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 และไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตลอดทั้งปี 2564
ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรไฮเทค – เกษตรอัจฉริยะของเวียดนาม คาดว่า ภาคสินค้าเกษตรของฮานอยจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของเวียดนามเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

มองเวียดนามเพื่อก้าวต่อไปของเกษตรกรไทย

จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตลอดหลายปี ทำให้เส้นแบ่งในแต่ละอุตสาหกรรมค่อยๆ เลือนรางลง ทำให้เริ่มมองเห็นได้ว่า ก้าวต่อไปของเทคโนโลยีด้านการเกษตรจะเติบโตเข้าไปได้กับกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ (Tech-Startup) มากขึ้น

ทำให้เกิดเป็นวิทยาการสายใหม่ที่เรียกว่า Agri-Tech (Agricultural Technology) เต็มรูปแบบ เช่น หากนำระบบตรวจสอบอุณหภูมิ เข้ามาทำงานร่วมกับระบบตรวจสอบความชื้นในอากาศและในดิน ประกอบกับระบบการให้น้ำอัตโนมัติ เกษตรกรก็จะสามารถควบคุมระดับความชื้นในพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือหากนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาร่วมด้วย ก็จะสามารถทำให้เกษตรกรควบคุมดูแลพื้นที่เพาะปลูกได้จากพื้นที่ห่างไกลผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตสูงขึ้น มีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพดีขึ้น

การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นเรื่องของความแม่นยำเพื่อนำไปสู่การเพาะปลูกพืชที่เข้ากับพื้นที่บริเวณนั้น ผ่านการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง โดยช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ สร้างมาตรฐานการผลิต ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าฟาร์มทั่วไป

Smart Farm คือคำตอบของการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป

โลกกำลังเข้าสู่อาหารยุคดิจิทัล

ปัจจุบันการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) เป็นที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ยุโรป รวมถึงในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย ขณะเดียวกันยังเน้นการผสมผสานกับการเกษตรแบบวิศวกรรมเปลี่ยนแปลง (Geo Engineering) ที่จะนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การเปลี่ยนให้พื้นดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อย่างทะเลทรายให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเกษตรและอาหารมากขึ้น และต่อไปโลกจะเข้าสู่อาหารยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตอาหารเองโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย

แหล่งอ้างอิง : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/hanoi-model-smart-farm

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

wpChatIcon
wpChatIcon