smartthink

วิวัฒนาการด้านการเกษตรของประเทศไทย
ภาคเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรการผลิตและการจ้างงานที่สำคัญของประเทศ โดยพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยมีสูงถึง 149 ล้านไร่(ข้อมูลปี 2563) หรือคิดเป็น 46.42% จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ 321 ล้านไร่ น่าเสียดายที่การวิจัยและพัฒนาในภาคการเกษตรของประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศเปิดใหม่อย่างจีนหรือเวียดนาม ทำให้ภาคการเกษตรบ้านเรายังเป็นการทำเกษตรแบบเก่าอยู่ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการทำเกษตรเผยแพร่ออกมามากมาย ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นโอกาสของคนไทยที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรบ้านเรา แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เราจะมาพูดถึงวิวัฒนาการของเกษตรกรตั้งแต่ 1.0 – 4.0 กันก่อนครับ
 
เกษตรกร 1.0 – การเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Agriculture)
วิวัฒนาการด้านการเกษตรของประเทศไทยจากอดีตที่มุ่งเน้นใช้แรงงานในภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรในการปลูกข้าว ลงแรงดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือการใช้แรงงานจากสัตว์ในการไถนา จะเป็นภาพที่บ่งบอกถึงการเกษตรดั้งเดิมตามชนบทได้เป็นอย่างดี ซึ่งการทำการเกษตรในยุคดังกล่าวยังต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจอย่าง สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศที่ไม่เป็นใจ มลภาวะต่าง ๆ และยังต้องเจอกับปัญหาด้านราคาพืชผลที่ผันผวน อีกทั้งงานวิจัยหรือความรู้ในการทำการเกษตรยังมีไม่แพร่หลายมากนัก จุดเริ่มต้นของการเกษตร 1.0 จะตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 และ 6 ของไทยเราครับ
 
เกษตรกร 2.0 – การเกษตรแบบประยุกต์เครื่องจักรเบา (Light Machinery)
หลังจากการเข้ามาของยุคอุตสาหกรรม ประเทศไทยเราเริ่มมีการพัฒนาประเทศโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมเบา โดยในภาคการเกษตรเองเริ่มมีการแบ่งเบาภาระการผลิต มีการลดแรงงานทั้งคนและสัตว์ลง เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต มีการนำรถไถหรือเครื่องฉีดพ่น มาเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมมีการปลูกพืชที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากแต่ก่อนที่ปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มมีการปลูกพืชอุตสาหกรรมอย่าง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปอ และยางพารามากยิ่งขึ้น
 
เกษตรกร 3.0 – การเกษตรแบบประยุกต์เครื่องจักรหนัก (Heavy Machinery)
ในยุคนี้มีการปรับเปลี่ยนจากเครื่องจักรเบามาเน้นเครื่องจักรกลที่มีราคาสูงแต่มีกำลังการผลิตสูง เพื่อให้ได้กำไรจากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น มีการใช้รถปลูกข้าวแทนแรงงานคน มีการจัดทำโรงเรือนระบบปิดเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เริ่มมีการควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ
 
เกษตรกร 4.0 – การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)
ในปัจจุบันภาครัฐได้มีการสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ควบคุมการผลิตในทุกกระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย มีการเผยแพร่ความรู้ จัดอบรม สัมมนาผู้ประกอบการทางการเกษตร และเกษตรกรโดยตรง เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการทำการเกษตรให้เข้าถึงมากขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในบางองค์กร อาทิ โรงงานผลิตพืชของ สวทช. หรือ ภาคเอกชน ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงงานไม่ว่าจะเป็น แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุอาหารต่างๆ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของพื้นได้ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้การเจริญเติบโตของพืชเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และมีอัตราผลผลิตที่ควบคุมได้ซึ่งก็คือโรงงานผลิตพืช Plant Factory ซึ่งมีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยโรงการผลิตพืชนี้สามารถเพิ่มคุณภาพของพีชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตได้
ที่มา : https://www.barramepirun.com/thailand-smart-farming/

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

wpChatIcon
wpChatIcon