smartthink

เทคโนโลยีการทำการเกษตรแบบแม่นยำ และการทำการเกษตรอัจฉริยะ

เกษตรแม่นยำเอาเข้าใจง่ายๆ ก็คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในฟาร์ม ที่มันเกี่ยวข้องกับปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชพรรณ เราต้องตรวจวัดออกมาให้ได้ แล้วเอาค่าที่ได้พวกนั้นเอามาบริหารจัดการที่จะเติมกลับเข้าไปให้มันเกิดประสิทธิภาพที่สุด

คำว่าประสิทธิภาพก็คือ ใช้ปัจจัยการผลิตที่น้อยลงแต่ว่าได้คุณภาพที่ดีขึ้น

แต่ถ้าสมมุติว่าข้อมูลต่างๆ ที่เราได้มานั้นสามารถที่จะส่งต่อไปให้คอมพิวเตอร์หรือให้ในส่วนของประมวลผล วิเคราะห์สังเคราะห์และตัดสินใจ สั่งงานย้อนกลับมาที่ฟาร์มสั่งมาที่ระบบปั๊มน้ำ, สั่งมาที่ระบบพัดลม, สั่งมาที่ระบบผสมปุ๋ย, หรือแม้กระทั่งสั่งมาให้โดรนบินฉีดพ่นให้มันตรงจุดเฉพาะ

แบบนั้นเราเรียกว่าสมาร์ท เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดในฟาร์มมันต้องเริ่มจากข้อมูลก่อน การที่ได้ข้อมูลมาก็คือระบบเกษตรแม่นยำ สำหรับการนำข้อมูลออกมาและนำมาตัดสินใจในการบริหาร

ถ้าใช้ระบบอัตโนมัติในการตัดสินใจในการบริหารจัดการปัจจัยในแปลง อันนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นสมาร์ท

  • อันแรกสำคัญที่สุดเลย ถ้าเป็นงานทางด้านพืชพรรณ ก็คือเรื่องน้ำการบริหารจัดการน้ำ
  • อันที่สอง จะเป็นในเรื่องของแร่ธาตุ สารอาหารต่าง ๆ
  • อันที่สาม จะเป็นในส่วนของโรคและแมลง
  • อันที่สี่ จะเป็นในส่วนของสภาพอากาศ
  • อันสุดท้ายก็คือ ในส่วนของปริมาณและคุณภาพผลผลิต

เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราบอกว่าเราจะเริ่มทำในระบบเกษตรแม่นยำ อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่จะตรวจวัดค่าปัจจัยต่าง ๆ ห้าปัจจัยนี้ เราจะต้องติดตั้งเข้าไปในแปลง

นวัตกรรม IoT ( Internet of Things ) Sensor

  • เช่น เรื่องน้ำ ตอนนี้จะมีระบบ IoT Sensor สำหรับการตรวจวัดค่าปริมาณความชื้นในแปลงปลูก และตัดสินใจการจ่ายน้ำแบบแม่นยำอัตโนมัติ โดยใช้สัญญาณทางวิทยุ
  • ในเรื่องของอากาศจะมีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ แบบ Online และ Real time ซึ่งอากาศทางการเกษตรหลัก ๆ จะมีอุณหภูมิอากาศ ความชื้นอากาศ ความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน ความเข้มแสง ชั่วโมงแสง เป็นต้น
  • อันที่สาม ในเรื่องของปุ๋ยนำหัว probe ที่เข้าไปวัดค่าแร่ธาตุอาหารในแปลงและมีอุปกรณ์ในเรื่องของการจ่ายปุ๋ยแบบอัตโนมัติ มีทั้งแบบปุ๋ยน้ำและปุ๋ยเม็ด 
  • ในเรื่องของ insect trap หรือกับดักแมลง ซึ่งกับดักแมลงตัวนี้จะทำงานเองอัตโนมัติโดยการล่อแมลงเข้ามาติดในกับดักและถ่ายภาพแมลงที่ติดในกับดัก ส่งขึ้นมาที่ฐานข้อมูลของเราทุกวัน เราก็จะดูว่าตอนนี้ ในแปลงของเรามีแมลงอะไรเข้ามาติดกับดัก ปริมาณประชากร มันจะระบาดไหม?
  • ซึ่งระบบนี้สามารถพัฒนาต่อไปเป็นตัว AI ในการยืนยันชนิดแมลงและปริมาณแมลง โดยที่ไม่ต้องใช้คนดูคอมพิวเตอร์จะยืนยัน และเตือนมาให้เราเองว่าตอนนี้มีความเสี่ยงของแมลงตัวไหนจะระบาด อย่างนี้ เป็นต้น
  • อันสุดท้าย จะเป็นในเรื่องของปริมาณและคุณภาพผลผลิตในส่วนของระบบ Camera farm ติดตั้งกล้อง CCD camera ไว้ เพื่อให้ส่งภาพเข้ามาให้เราทุกวัน วันละสามภาพเพื่อที่จะนำภาพตัวนี้ ไปวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดิจิตอล
  • ดูในเรื่องของอัตราการเจริญเติบโต ดูในเรื่องของปริมาณผลผลิต ดูในเรื่องของความผิดปกติ ซึ่งตัวนี้จะพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ AI ต่อไป

ระบบ IoT Sensor ต่าง ๆ  ก็จะมีในส่วนของที่เรียกว่าเป็นระบบสนับสนุนการทำการเกษตร หรือใช้คำว่าระบบ Decision support system นี่ ในรูปแบบของ application บนมือถือให้เกษตรกรไปใช้ ระบบ Decision support system ตัวนี้

จะมีฟังก์ชันการทำงานอยู่สามแบบ

  • แบบแรกก็คือ ในเรื่องของการพยากรณ์วันเก็บเกี่ยว พยากรณ์ผลผลิตล่วงหน้า พยากรณ์วันฉีดพ่น หรือแม้กระทั่งพยากรณ์ในส่วนของการระบาดของโรคและแมลง เป็นต้น พอพยากรณ์เสร็จจะมีการเตือนเข้ามาในมือถือเกษตรกรว่าคาดว่าแปลงของคุณจะมีการระบาดของแมลงชนิดนี้ ควรจะฉีดพ่นด้วยสารตัวไหน? ในอัตราส่วนเท่าไหร่? ฉีดพ่นด้วยวิธีไหน? หลังจากนั้นก็มีในเรื่องของการให้คำแนะนำ ถ้าคุณต้องการฉีดพ่นสารตัวนี้ คุณมีบริษัทโดรน หรือมีโดรนหรือยัง? คุณต้องการอยากได้โดรนไหม? เดี๋ยวระบบจะติดต่อโดรนให้ อย่างนี้เป็นต้น
  • นี่เป็นส่วนของ Application สนับสนุนการทำเกษตร รวมถึงในเรื่องของการจดบันทึกบัญชีฟาร์มด้วยอีกอันหนึ่งจะเป็นในเรื่องของการ tracking หรือการเก็บข้อมูลกระบวนการผลิตในแปลง
  • ซึ่งตอนนี้มีการใช้เทคโนโลยีที่ง่าย เรียกว่า NFC Tag มี Application บนมือถือให้ ใช้ในการสแกน tag แล้วเชื่อมต่อเข้าฐานข้อมูล ในการบันทึกข้อมูลกระบวนการผลิตต่าง ๆ ซึ่งตัวนี้มันจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเวลาผู้บริโภคมาซื้อสินค้าของเรา แล้วสามารถที่จะตรวจสอบย้อนกลับมาได้ว่าผลผลิตที่เขากำลังจะซื้อนี่เกษตรกรปลูกที่ไหน? เกษตรกรเป็นใคร? กระบวนการเพาะปลูก? ปลูกด้วยวิธีไหน? ใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีตัวไหน?
  • ซึ่งตัวนี้จะเป็นการเตรียมระบบสำหรับการเอาไปต่อยอด เป็นระบบ Traceability หรือระบบตรวจสอบย้อนกลับทางการเกษตรได้

เนื้อหาทั้งหมดมันจะเป็นในส่วนของอุปกรณ์ และ solution ที่เอามาประกอบเป็น Platform ในเรื่องของการทำเกษตรสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และสมาร์ทฟาร์ม

ระบบ IoT Sensor สำหรับความชื้นในดิน
ส่วนประกอบของระบบ IoT ตรวจวัดค่าปริมาณความชื้นในดินและก็ตัดสินใจจ่ายน้ำแบบแม่นยำอัตโนมัติ ระบบนี้อกแบบมาเพื่อที่จะช่วยเกษตรกรให้ลดภาระในเรื่องของการทำงานในฟาร์มในเรื่องของการจ่ายน้ำ อันนี้อันแรก
อันที่สองช่วยให้เกษตรกร บริการจัดการ การควบคุมปริมาณความชื้นในแปลงได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกษตรกรสามารถจะใช้น้ำได้น้อยลงแล้วในรูปแบบของการให้น้ำในกรณีที่เป็นพืชไร่หรือพืชสวนตอนนี้ ถ้ามีตัวเซนเซอร์ตัวนี้ เราสามารถจะปล่อยน้ำไปตามร่องคู โดยที่น้ำก็จะไหลไปตามร่องคูจนไปถึงจุดสุดท้ายที่เรานำหัวโพรบ ( Probe ) ไปติดตั้งไว้ถ้าความชื้นถึงจุดที่กำหนดมันก็จะสั่งให้ปั๊มน้ำหยุดจ่ายน้ำเอง
ถ้าทำระบบนี้ได้ ค่าปริมาณไฟฟ้าจะลดลงได้ถึง 60% ในการให้น้ำแต่ละครั้งและในส่วนของปริมาณคุณภาพของผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าพืชต้องการใช้น้ำเมื่อไหร่ในดินมีความชื้นให้ใช้ตลอดเวลาอันนี้เป็นประโยชน์ข้อที่ 2
ประโยชน์ข้อที่ 3 จะเป็นในเรื่องของการบันทึกข้อมูลการใช้น้ำ ในแต่ละครอปของพืชแต่ละชนิดตัวนี้จะส่งข้อมูลการจ่ายน้ำขึ้นไปเก็บที่ฐานข้อมูล จะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการที่ต้องการข้อมูลพวกนี้นำไปวิเคราะห์ในเรื่องของการบริหารจัดการปริมาณการให้น้ำของพืชแต่ละชนิดใน 1 ครอป ที่สำคัญก็คือว่าสำหรับเกษตรกรมือใหม่หรือเกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุ ที่ยังมีความสนใจอยากทำเกษตรอยู่มันจะช่วยอำนวยความสะดวก และทำให้งานเกษตรสะดวกสบายมากขึ้น
 
อุปกรณ์ตัวนี้ ถ้าอยากให้มันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ หนึ่งชุดน่าจะใช้ในพื้นที่ 1 ไร่ แต่ในกรณีที่เกษตรกรต้องการขยายพื้นที่ออกไป โดยใช้เซนเซอร์ชุดเดียวอยู่ก็ได้เหมือนกัน แต่พืชควรจะเป็นพืชชนิดเดียวกันลักษณะดินควรจะเป็นลักษณะดินเดียวกันและที่สำคัญคือวิธีการให้น้ำ
 
ถ้าเราให้น้ำแบบร่องคูตัวนี้ไม่มีปัญหาเพราะว่ามันไม่ต้องใช้แรงดันปั๊มที่เยอะ
ถ้าเราใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์หรือแบบน้ำหยดต้องคำนึงถึงขนาดของปั๊มน้ำด้วยว่าปั๊มน้ำที่เราใช้ตอนนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกี่ไร่
ส่วนประกอบของระบบให้น้ำแบบแม่นยำอัจฉริยะ
เซนเซอร์โหนด ( Sensor Node ) ซึ่งจะประกอบไปด้วย หัวโพรบ ( Probe ) และตัวของเซนเซอร์จะมีตัวประมวลผล คือ SPS266 ตรงนี้จะเป็นตัวประมวลผลและส่งสัญญาณ wifi ให้เราตั้งค่าความชื้นต่ำสุด สูงสุด
จะสื่อสารผ่านระบบลอร่าแลน ( Long Range Low Power Wireless Platform; LoRa ) ตัวนี้ ใช้คลื่น 868.0 ให้พลังงานโดยตัวถ่านลิเธียมไอออน ( Lithium ion ) และก็สามารถชาร์จแบตเตอรี่ ผ่านโซลาร์เซลล์ ( Solar Cell ) ได้ด้วย
ต่อจากเซนเซอร์โหนดจะเป็นวาล์วโหนด รับสัญญาณจากเซนเซอร์โหนดด้วยสัญญาณลอร่าแลน ( LoRa ) ตัวนี้ ให้พลังงานโดยถ่านลิเธียมไอออนเช่นกัน และก็ชาร์จพลังงานด้วยแผงโซลาร์เซลล์ตัวนี้จะรับสัญญาณจากตัวของเซนเซอร์ และสั่งการให้วอเตอร์วาล์ว ( Water Valve ) เป็นตัวสั่งเปิดปิดน้ำเข้าสู่ฟาร์ม
 
ระบบการให้น้ำแบบโซลาร์ปั๊มนั้น จะประกอบไปด้วย
แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 330 วัตต์ จำนวน 6 แผง ให้ไฟกระแสตรงไปยังอินเวอร์เตอร์ ( inverter )
อินเวอร์เตอร์แปลงกระแสไฟเป็นกระแสสลับเข้าสู่ปั๊มน้ำขนาดปั๊ม 3.5 แรงม้า
จากนั้นปั๊มน้ำจะดูดน้ำจากบ่อขึ้นมาแล้วจ่ายไปสู่แปลงเกษตรของเรา
 
เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ
จะเป็นการผสมปุ๋ยโดยใช้แม่ปุ๋ยหลัก NPK ในการผสมแต่ละสูตรตามโปรแกรมที่เราตั้งไว้ โดยการผสมนั้นจะเป็นการผสมโดยการปล่อยปุ๋ยอย่างอิสระเข้าไปที่ถังผสมปุ๋ย และมีการผสมน้ำให้เข้ากันเสร็จแล้วปล่อยน้ำเข้าไปในแปลงเกษตรที่มีการผสมปุ๋ยแล้วเรียบร้อย
 
สถานีตรวจวัดสภาพอากาศหรือ Weather Station
จะทำหน้าที่ในการวัดปัจจัยหลักในแปลงไม่ว่าจะเป็นความชื้น ความเร็วลม ทิศทางลม ความเข้มแสง ปริมาณน้ำฝน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ปัจจัยในการผลิต และประมวลผลเพื่อคาดคะเน
เพื่อพยากรณ์ผลผลิตที่จะได้ในฤดูกาลนั้น ๆ
 
ซึ่งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ Weather Station ตัวนี้
จะมีกล้องอยู่สองอย่าง กล้องตัวแรกจะเป็นกล้องในการประเมินการเจริญเติบโตของพืช ส่วนกล้องตัวที่สองจะเป็นกล้อง insect plant ถ่ายรูปแมลงทุกชนิดที่เข้ามาในแปลงของเราโดยหลักการทำงานนั้นในตอนกลางคืนตัวกล้องจะเปิดไฟ black light พอเปิดไฟ black light เสร็จแล้ว จะมีแมลงเข้ามาตอม พอมีแมลงเข้ามาตอม พัดลมในกล้องจะเปิดการทำงานเองอัตโนมัติและเป่าไปสู่ตัวของแมลงและแมลงจะติดอยู่ในกับดักแล้วกล้องก็จะถ่ายส่งเข้ามาให้แก่ฐานข้อมูล
 
ซึ่งข้อมูลที่เราได้มาจะเป็นข้อมูลในการช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแมลงระบาดในแปลงของเราทั้งหมด
ระบบบันทึกกระบวนการเพาะปลูกแบบแม่นยำด้วยเทคโนโลยี NFC
NFC tag เป็นชิปอิเล็กทรอนิกส์ มาแทนระบบ RFID ( Radio Frequency Identification ) ซึ่งมันเป็นระบบที่ใช้ในเรื่องของการยืนยัน หรือในการระบุชนิดของอุปกรณ์นั้น ๆ ภาษาอังกฤษ NFC คือ Near-field Communication
 
ข้อดีของ NFC tag ก็คือ
ตัวมันเองมีขนาดเล็ก ไม่ต้องมีแบตเตอรี่ในตัว
เพราะฉะนั้นสามารถติดตั้งไว้ในส่วนของอุปกรณ์ในแปลงเพาะปลูกได้ง่าย
และตัวมันเองสามารถที่จะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน โดยผ่าน Application มือถือได้แทบทุกยี่ห้อ
 
เพราะฉะนั้นการนำ NFC tag มาใช้งานในภาคการเกษตรจะมีความสะดวกสบายมากกว่าการใช้ RFID โดยที่ตัว NFC ตอนนี้เอามาใช้ในเรื่องของการเก็บข้อมูลกระบวนการเพาะปลูกในแปลง เช่น แปลงนี้มีกระบวนการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ แบบปลอดภัย ใช้ปุ๋ยสูตรไหน เมื่อไหร่ วันที่เท่าไหร่?
 
กระบวนการต่างๆ จะมีการบันทึกในเรื่องของวันและเวลา ที่เราทำรายการข้อมูล มีในเรื่องของการบันทึกรูปภาพ มีในเรื่องของการบันทึกรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำโดย NFC ตัวนี้ มันจะส่งข้อมูลขึ้นไปยังฐานข้อมูลที่เราทำไว้โดยข้อมูลที่มันส่งขึ้นอัตโนมัติเลยก็คือข้อมูลของเกษตรกรเจ้าของ tag ข้อมูลพิกัดแปลงที่เราทำรายการ ณ เวลานั้น
 
เพราะฉะนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่เราทำในกระบวนการ NFC tag ตัวนี้จะเป็นข้อมูลจริง Real Time ที่เราบันทึกกิจกรรมในแปลงข้อมูลทั้งหมดพวกนี้ เราบันทึกตั้งแต่วันแรก จนถึงวันสุดท้ายที่เก็บเกี่ยวเกษตรกรจะได้รับ QR code ที่อยู่ของฐานข้อมูลตัวนี้ เพื่อที่จะเอามาแปะไว้ในสินค้าตัวเอง หลังจากที่นำออกไปขายในท้องตลาด
 
ผู้บริโภคที่มาซื้อผลผลิตตัวนี้ เขาจะเปิด Application สแกน QR code
แล้วข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บไว้ที่ฐานข้อมูลจะถูกสรุป แสดงผลออกมาในหน้าจอสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคเริ่มตั้งแต่รายชื่อเกษตรกรพิกัดแปลงที่ปลูก กระบวนการในเรื่องของปุ๋ย เรื่องของการอารักขาต่าง ๆ จะถูกแสดงผลออกมาในหน้าจอสมาร์ทโฟนของผู้บริโภค
 
ระบบนี้จะทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์วัตถุดิบทางการเกษตรตรงนั้นเอาไปบริโภค ซึ่งเกษตรกรจะได้รับก็คือในส่วนของมูลค่าการขายที่เพิ่มขึ้นคือตัวสินค้ามีข้อมูลติดไปตัวผู้บริโภคเองได้รับความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ตัวนี้ก็จะเป็นอีกระบบหนึ่งที่เราเอามาใช้ในเรื่องของการยกระดับการเกษตร
 
การใช้งาน NFC tag
เกษตรกรต้องการใช้งานจะต้องแจ้งมาทางหน่วยวิจัย Smart Farm และ Solution ทางการเกษตรเพื่อที่เราจะขึ้นทะเบียนตัวชิป NFC ให้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ฟาร์มเกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด ต้องการใช้ tag อยู่ 5 tags ต้องแจ้งเรามา เราก็จะกำหนดชื่อ tag ซึ่งตรงตามฐานข้อมูลไว้ หลังจากนั้นเราจะส่ง tag ตัวนี้ไปให้เกษตรกร เกษตรกรเอา tag ตัวนี้ไปติดกับป้าย หรือติดกับวัตถุไหนก็ได้ที่สามารถที่จะเอาไปปักในแปลงได้เอาไปไว้ในแปลง หลังจากนั้นเราก็จะให้ดาวน์โหลด Application ในการบันทึกข้อมูลพอเกษตรกรดาวน์โหลด Application ลงในสมาร์ทโฟนตัวเองแล้ว
 
วิธีการใช้งานก็ง่ายนิดเดียว
วันนี้เราจะปลูก เราก็แค่เปิดแอป ( Application ) ตัวนี้ขึ้นมาแอปมันจะถามหา tag เราก็เอามือถือเราไปสแกน tag เลือกกิจกรรม ตอนนี้เราดีไซน์ไว้ทั้งหมดอยู่ 6 กิจกรรม ก็คือ
กิจกรรมการปลูก
กิจกรรมการกำจัดวัชพืช
กิจกรรมการให้ปุ๋ย
กิจกรรมการให้ฮอร์โมน
กิจกรรมในเรื่องของการอารักขา
แล้วก็กิจกรรมการเก็บเกี่ยว
 
เพราะฉะนั้น เราก็ไปเลือกในส่วนของกิจกรรมต่าง ๆ ระบบมันก็จะให้เราใส่ข้อมูลเข้าไป เช่น ให้ถ่ายรูปมาสิว่าตอนนี้ กิจกรรมการเพาะปลูกของเรา เราทำอย่างไรบ้าง? มีให้เขียนคำบรรยายว่าตอนนี้เราปลูกอะไร
ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าวันนี้จะปลูกผักตระกูลผักสลัดสามชนิด  อันนี้คือแปลงแรก เมล็ดพันธุ์ได้มาจากไหน?
 
หลังจากนั้น เราจะปลูกพืชผักสวนครัวอีกสองชนิดก็ถ่ายรูปส่งเข้าไป แล้วก็เขียนคำบรรยายไปหลังจากนั้นก็กดเก็บข้อมูลข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพิกัดแปลงที่เราทำรายการอยู่ตรงนั้น ตัวรหัสของ NFC tag แล้วก็ข้อมูลภาพถ่าย ข้อมูลตัวหนังสือต่าง ๆ ที่เราทำ จะถูกส่งขึ้นไปเก็บบนฐานข้อมูล ในหมวดของกระบวนการผลิตในการปลูก
 
หลังจากนั้นอีก 5 วัน เรามาในแปลงเรา เราจะมากำจัดวัชพืช ถ้าในกรณีที่เป็นระบบเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เราบอกว่าเราใช้ชีวภัณฑ์ก็ถ่ายรูปชีวภัณฑ์ เขียนรายละเอียดของชีวภัณฑ์ตัวนั้นหรือเราบอกว่า เราใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืช หรือใช้เครื่องจักรตัวไหนในการกำจัดวัชพืช ก็ถ่ายรูปเขียนรายละเอียด แล้วก็บันทึกเข้าไปเก็บในขั้นตอนการกำจัดวัชพืช ตัวนี้ก็จะเก็บข้อมูลไว้ ทำแบบนี้ให้ครบทุกขั้นตอน
 
จนสุดท้ายแล้วเก็บเกี่ยววันที่เก็บเกี่ยว ระบบก็จะบันทึกไว้ปริมาณผลผลิตที่ออกจากฟาร์มคุณภาพก็จะถูกบันทึกไว้ หลังจากนั้น ในส่วนของแอดมิน ( Administrator ) ของระบบก็จะส่งไฟล์ QR code กลับมาให้เกษตรกร เกษตรกรก็พิมพ์ ( Print ) เอา QR code ตัวนี้ไปติดที่หน้าซองผักถุงผักของตัวเองแล้วก็ส่งขายที่ร้านค้า ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต คนที่มาซื้อเขาก็จะเอามือถือมาสแกน QR code ตัวนี้ก็จะได้หน้าสรุปกระบวนการผลิตทั้งหมดออกมา
 
เพราะฉะนั้นเทคโนโลยี NFC tag สำหรับบันทึกกระบวนการเพาะปลูกทางการเกษตร ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรเองก็คือ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นสร้างมูลค่าให้กับตัวผลผลิต ทำให้ตัวผลผลิตของเรามีความแตกต่างจากผลผลิตชนิดเดียวกันในท้องตลาดในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็จะได้รับในส่วนของความเชื่อมั่นได้รับในส่วนของข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปหาต้นตอของตัวสินค้าที่เราต้องการจะซื้อไปรับประทานได้
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ดร.โชติพงศ์ กาญจนประโชติ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

ที่มา : เทคโนโลยีการทำการเกษตรอัจฉริยะ ( Smart Farm ) ม.แม่โจ้ – Vayo Farm – Blog : บล็อก วาโย ฟาร์ม

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

wpChatIcon
wpChatIcon